วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเลี้ยงปลานิลในกระชัง

กระชังเลี้ยงปลาคลองระพีพัฒน์
การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐศาสตร์ และการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำทั่วไป อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถหันมาเลี้ยงปลาได้ หากปล่อยปลาในอัตราที่เหมาะสมจะทำให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นสามารถช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยงให้สั้นลงได้ นอกจากนี้ยังสะดวกในการดูแลจัดการการเคลื่อนย้าย รวมทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตและมีการลงทุนต่ำกว่ารูปแบบการเลี้ยงอื่นๆ ในขณะที่ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปลานิลในกระชังอาจจะมีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น ปัญหาโรคพยาธิที่มากับน้ำซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนั้นยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมหากไม่มีการคำนึงถึงปริมาณและที่ตั้งของกระชัง ตลอดจนความเหมาะสมของลำน้ำ ดังนั้นการเลี้ยงยังขึ้นอยู่กับอาหารสำเร็จรูปเพียงอย่งเดียวทำให้สิ้นเปลืองในการลงทุน หลักการสำคัญที่ควรคำนึงถึงสำหรับการเลี้ยงปลาในกระชังได้แก่
       การเลือกสถานที่
       บริเวณที่จะทำการเลี้ยงปลาในกระชังจะต้องมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากการเลี้ยงปลาในกระชังเป็นการเลี้ยงแบบพัฒนา(intensive) เน้นการจัดการเลี้ยงโดยใช้อาหารเป็นหลัก คุณภาพน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเลี้ยงปลาในกระชัง โดยปกติแหล่งน้ำที่นำมาเลี้ยงปลาในกระชังควรเป็นแหล่งน้ำที่มีความสมบูรณ์ กล่าวคือ จะต้องมีปริมาณธาตุอาหารต่ำ หรือกล่าวอย่างง่ายๆ คือ น้ำจะต้องใสสะอาด มีคุณภาพดี  การเลี้ยงปลาในกระชังสามารถทำได้ทั้งในบ่อขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถถ่ายน้ำได้หมด หรือในอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงทั่วไป รวมถึงบริเวณชายฝั่งทะเล เป็นต้น โดยมีหลักในการพิจารณาถึงทำเลที่เหมาะสม ดังนี้
       การถ่ายเทของกระแสน้ำ ปกติการเลี้ยงปลาในกระชังจะอาศัยการถ่ายเทน้ำผ่านกระชังเพื่อพัดเอาน้ำดีเข้ามาและไล่เอาของเสียออกไปนอกกระชัง เสมือนมีการเปลี่ยนน้ำใหม่เพื่อให้น้ำมีคุณภาพตลอดเวลา ดังนั้น บริเวณที่เลี้ยงปลาในกระชังจึงควรมีกระแสน้ำและลม เพื่อช่วยให้การหมุนเวียนของน้ำ ภายในกระชังเป็นไปด้วยดีแต่ต้องไม่รุนแรงนัก โดยเฉพาะสำหรับการเลี้ยงปลาในกระชังในอ่างเก็บน้ำหรือบ่อขนาดใหญ่ กระแสลมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสน้ำในกระชัง บริเวณที่แขวนกระชังจึงควรเป็นบริเวณที่โล่งแจ้ง ห่างไกลจากร่มไม้และไม่ควรมีพรรณไม้น้ำ เนื่องจากต้นไม้และพรรณไม้น้ำมักจะบังกระแสลมและกระแสน้ำ ซึ่งจะมีผลต่อการหมุนเวียนถ่ายเทน้ำในกระชัง
       ความลึกของแหล่งน้ำ  แหล่งน้ำควรมีความลึกพอประมาณ เมื่อกางกระชังแล้วระดับพื้นกระชังควรสูงจากพื้นก้นบ่อหรือพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้ดีตลอด
       ห่างไกลจากสิ่งรบกวน  บริเวณที่ลอยกระชังควรห่างจากแหล่งชุมชน เพื่อป้องกันการรบกวนจากการพลุกพล่าน ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดกระวนกระวาย ได้รับบาดเจ็บจากการว่ายชนกระชังทำให้ปลาไม่กินอาหาร ทั้งหมดนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตตามปกติของปลาที่เลี้ยงหรือเป็นโรคติดเชื้อจากบาดแผลที่เกิดขึ้นได้
       ชนิดปลาที่จะเลี้ยงและอัตราปล่อย
       ดังได้กล่าวแล้วว่ารูปแบบการเลี้ยงในกระชังมีความเหมาะสมต่อการเลี้ยงปลานิลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย มีความอดทน มีตลาดรองรับ โดยเฉพาะปลานิลแปลงเพศ ซึ่งเป็นปลาเพศผู้ล้วน จะทำให้ได้ผลผลิตสูงกว่าเพศเมีย อีกทั้งจะได้ปลาที่มีขนาดใหญ่และปลาแต่ละตัวมีขนาดไม่แตกต่างกันมาก อีกทั้งจะได้ปลาที่เลี้ยงจะเป็นรุ่นเดียวกันซึ่งต่างจากการเลี้ยงปลานิลรวมเพศที่มีการผสมพันธุ์วางไข่ ทำให้มีปลาหลายรุ่น และมีจำนวนแน่นบ่อ เกิดการแย่งอาหาร และพื้นที่ไม่เพียงพอ สำหรับอัตราการปล่อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ขนาดที่เริ่มปล่อย ระยะเวลาการเลี้ยง และขนาดที่ตลาดต้องการ


       อาหาร การให้อาหาร และการจัดการระหว่างการเลี้ยง
       การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นรูปแบบการเลี้ยงปลาแบบพัฒนา (intensive) หรือกึ่งพัฒนา (semi - intensive) เน้นการให้อาหารเพื่อเร่งผลผลิตและการเจริญเติบโต จึงควรจะใช้อาหารที่มีคุณค่าทางโปรตีนค่อนข้างสูงและเหมาะสมกับความต้องการของปลาแต่ละขนาด ปัจจัยที่สำคัญควรนำมาประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการให้อาหารปลาในกระชัง ได้แก่
       ระดับโปรตีนในอาหาร ปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของปลานิลที่มีอายุต่างกันจะแตกต่างกัน สำหรับลูกปลาวัยอ่อน (Juvenile) และลูกปลานิ้ว (Fingerling) จะต้องการอาหารทีมีระดับโปรตีนประมาณ 30 - 40 % แต่ในปลาใหญ่จะต้องการอาหารที่มีโปรตีนประมาณ 25 - 30 %
       เวลาในการให้อาหาร เนื่องจากปลานิลจะกินอาหารได้ดี เมื่อมีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำสูงจะเป็นช่วงเวลากลางวัน ดังนั้นส่วนใหญ่จึงควรให้อาหารในช่วงเวลาดังกล่าว
       ความถี่ในการให้อาหาร ปลานิลเป็นปลาที่ไม่มีกระเพาะอาหารจริงจึงสามารถกินอาหารได้ทีละน้อยและมีการย่อยอาหารที่ค่อนข้างช้า การให้อาหารครั้งละมากๆ จะทำให้สูญเสียอาหารและก่อให้เกิดสภาวะน้ำเสียได้ ดังนั้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากอาหารเม็ดสูงสุดจึงควรให้อาหารแต่น้อย แต่ให้บ่อยๆ โดยความถี่ที่เหมาะสมคือ ปริมาร 4 - 5 ครั้งต่อวัน จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตและทำให้ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐศาสตร์สูงสุด
       อัตราการให้อาหาร ปริมาณอาหารที่ให้ปลากินจะขึ้นอยู่กับขนาดของปลาและอุณหภูมิ หากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นจะทำให้อัตราการกินอาหารของปลาสูงขึ้นตามไปด้วย อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมประมาณ 25 - 30 องศาเซลเซียล ควรให้อาหาร 20 % ของน้ำหนักปลา สำหรับปลาขนาดเล็กในปลารุ่นอัตราการให้อาหารจะลดลงเหลือ ประมาณ 6 - 8 % และสำหรับปลาใหญ่ อัตราการให้อาหารจะเหลือเพียง ประมาณ 3 - 4 %
       การจัดการระหว่างการเลี้ยง ควรมีการตรวจสอบกระชังเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทุกๆ สัปดาห์ รวมทั้งสุ่มปลามาตรวจสอบน้ำหนักเพื่อปรับปริมาณอาหารที่ให้ได้อย่างเหมาะสม

    
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
       การเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นข้อควรคำนึงอีกประการหนึ่งสำหรับการจัดการการเก็บเกี่ยวผลผลิต จากการเลี้ยงในกระชังควรคำนึงถึงขนาดของปลาและปริมาณที่ตลาดต้องการ
       การสร้างกระชัง
       รูปร่างและขนาดของกระชัง
       กระชังที่ใช้เลี้ยงปลานิลมีรูปทรงต่างๆ เช่น รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และรูปกลม เป็นต้น รูปร่างของกระชังจะมีผลต่อการไหลผ่านของกระแสน้ำที่ถ่ายเทเข้าไปในกระชัง เมื่อเปรียบเทียบปริมาณเท่ากันๆ กระชังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะมีพื้นที่ผิวที่ให้กระแสน้ำไหลผ่านได้มากกว่ากระชังรูปแบบอื่นๆ

       ขนาดกระชัง ที่ใช้เลี้ยงจะแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกร ขนาดพื้นที่ที่แขวนกระชัง ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ขนาดกระชังที่นิยมใช้โดยทั่วไป คือ
       กระชังสี่เหลี่ยม ขนาด 1.2 x 1.2 x 2.5 หรือ 2 x 2 x 2.5 เมตร     กระชังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 4 x 2 x 2.5 เมตร
       สำหรับต้นทุนค่าสร้างกระชัง ต้นทุนต่อปริมาตรจะลดลงเมื่อขนาดของกระชังใหญ่ขึ้นแต่ผลผลิตต่อปริมาตรก็จะลดลงด้วย เนื่องจากกระชังใหญ่กระแสน้ำไม่สามารถหมุนเวียนได้ทั่วถึง ความลึกของกระชังส่วนใหญ่ที่ใช้จะมีความลึก 2.5 เมตร เมื่อลอยกระชังจะให้กระชังจมอยู่ในน้ำเพียง 2.2 เมตร โดยมีส่วนที่โผล่พ้นน้ำประมาณ 20 - 25 เซนติเมตร ความลึกของกระชังมีผลต่อการเจริญเติบโตของปลาเช่นกัน ปกติระดับออกซิเจนทีละลายในน้ำจะสูงบริเวณผิวน้ำ ที่ระดับความลึกประมาณ 2 เมตร ปริมาณออกศิเจนที่ละลายในน้ำเพียง 50 - 70 % ของปริมาณออกซิเจนที่ผิวน้ำเท่านั้น ดังนั้น การสร้างกระชังไม่ควรให้ลึกเกินไป เนื่องจากปลาจะหนีลงไปอยู่ในส่วนที่ลึกซึ่งมีปริมาณออกซิเจนต่ำ และจะส่งผลให้ปลากินอาหารน้อยมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ ดังนั้นขนาดกระชังขึ้นอยู่กับปัจจัยเป็นองค์ประกอบของการเลี้ยงซึ่งผู้เลี้ยงต้องตัดสินใจโดยพิจารณาถึงจำนวนปลาที่ปล่อย กระชังขนาดเล็กที่ปล่อยหนาแน่น ให้ผลผลิตต่อปริมาตรสูง ดูแลจัดการง่าย แต่ผลผลิตรวมอาจต่ำกว่ากระชังขนาดใหญ่ดังกล่าวข้างต้น
       นอกจากนี้บริเวณผนังกระชังด้านบน ควรใช้มุ้งเขียวขนาดความกว้างประมาณ 90 เซนติเมตร ขึงทับไว้เพื่อป้องกันมิให้อาหารหลุดออกนอกกระชังในระหว่างการให้อาหาร
       การแขงนกระชัง ควรแขวนให้กระชังห่างกันไม่น้อยกว่า 3 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมุมอับระหว่างกระชังเป็นการลดสภาวะการขาดออกซิเจน หากจำเป็นควรใช้เครื่องตีน้ำหรือเครื่องสูบน้ำช่วยให้เกิดการหมุนเวียนถ่ายเทน้ำภายในกระชังและเป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำอีกด้วย
       ขนาดตาอวนที่ใช้ทำกระชัง จะต้องเหมาะสมกับขนาดปลาที่เลี้ยงเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาหนีลอดไปได้ อีกทั้งจะต้องให้กระแสน้ำไหลผ่านได้สะดวกและป้องกันไม่ให้ปลาขนาดเล็กภายนอกเข้ามารบกวนและแย่งอาหารปลาในกระชัง ขนาดตาอวนที่ใช้ไม่ควรมีขนาดเล็กกว่า 1.5 x 1.5 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ขัดขวางการหมุนเวียนของน้ำผ่านกระชัง กระชังควรมีฝาปิดซึ่งอาจทำจากเนื้ออวนชนิดเดียวกับที่ใช้กระชังหรือวัสดุที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อป้องกันปลาที่เลี้ยงหนีออกและปลาจากภายนอกกระโดดเข้ากระชัง รวมทั้งป้องกันไม่ให้นกมากินปลาที่เลี้ยง
อัตราการปล่อยปลา

       การเลี้ยงปลาขนาดตลาด ผู้เลี้ยงควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ คือ ขนาดปลาที่ตลาดต้องการและระยะเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดในเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงพิจารณาย้อนกลับเพื่อหาขนาดและจำนวนปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยง
       เนื่องจากการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในกระชังมีเป้าหมายการผลิตเพื่อการค้า ซึ่งผู้เลี้ยงควรที่จะผลิตปลาออกมาให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อในระยะเวลาที่เหมาะสมและมีปริมาณเพียงพอ
       อัตราปล่อยที่กำหนดจะอยู่ภายใต้การตัดสินใจ ซึ่งควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
       ระยะเวลาการเลี้ยงปลานิลในกระชัง การเร่งให้ผลผลิตออกมาในเวลาอันรวดเร็ว (ระยะเวลาเลี้ยงสั้น) จะต้องปล่อยปลาลงเลี้ยงในอัตราไม่หนาแน่นนักและใช้ปลาที่มีขนาดใหญ่ อัตราการปล่อยปลาขึ้นอยู่กับขนาดของกระชัง โดยที่กระชังขนาดเล็กสามารถปล่อยได้ในอัตราค่อนข้างหนาแน่น ในขณะที่กระชังขนาดใหญ่มากอัตราการปล่อยลงเลี้ยงอาจลดลง 6-8 เท่า ตัวอย่าง เช่น กระชังขนาด 1-4 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยปลานิลแปลงเพศในอัตรา 300-400 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร จะสามารถผลิตปลาให้ได้ขนาดปริมาณ 400-500 กรัม และหากปล่อยในอัตรา 200-250 ตัว ต่อลูกบาศก์เมตร จะผลิตปลาได้ขนาดประมาณ 700 กรัม ในขณะที่กระชังขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยปลาในอัตรา 50 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร จะสามารถผลิตปลาได้เพียงขนาดเฉลี่ย 400-500 กรัม เท่านั้น สำหรับขนาดปลาหากเลี้ยงปลาขนาด 5-10 กรัม เลี้ยงให้ได้ขนาด 250-300 กรัม ต้องใช้เวลา 6-8 เดือน แต่หากต้องการปลาที่มีขนาดใหญ่ จำเป็นต้องปล่อยลูกปลาใหญ่ขึ้น หรือแบ่งการเลี้ยงออกเป็นช่วงๆ
       ขนาดปลาที่ตลาดต้องการ ถ้าต้องการปลาขนาดใหญ่ ควรปล่อยปลาลงเลี้ยงใรอัตราความหนาแน่น และ/หรือ ยืดระยะเวลาเลี้ยงให้นานขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากตลาดมีความต้องการปลาขนาดเล็ก ผู้เลี้ยงสามารถปล่อยปลาในอัตราสูง และ/หรือ ร่นระยะเวลาเลี้ยงให้สั้นลง
       การเลี้ยงปลาวัยอ่อนเป็นปลารุ่น และการเลี้ยงปลารุ่นเป็นปลาขนาดตลาด
       การเลี้ยงปลาในกระชังควรแบ่งการเลี้ยงออกเป็นหลายๆ ช่วง เพื่อความสะดวกในการจัดการดูแล ย่นระยะเวลาในการเลี้ยงในแต่ละช่วงให้สั้นลง ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ได้แก่
       1. การเลี้ยง/อนุบาลลูกปลาขนาดเล็กเป็นปลาวัยรุ่น
       2. การเลี้ยงลูกปลาสัยอ่อนเป็นปลาวัยรุ่น
       3. การเลี้ยงปลาวัยรุ่นเป็นปลาขนาด 100-200 กรัม

       4. การเลี้ยงปลาวัยรุ่น หรือปลาขนาด 100-200 กรัม เป็นปลาขนาดตลาด
       การเลี้ยงปลาวัยอ่อนเป็นวัยุร่น
       การอนุบาลลูกปลาวัยอ่อนถึงขนาด 50-100 กรัมนั้น เป็นการเลี้ยงเพื่อส่งต่อไปยังผู้เลี้ยงปลาขนาดตลาด ซึ่งอาจจะดำเนินการได้ทั้งในบ่อดิน และในกระชัง สำหรับการเลี้ยงในกระชังผู้เลี้ยงควรทำการคัดขนาดปลาทุก 4-6 สัปดาห์ เพื่อคัดปลาที่แคระแกร็นออก การเลี้ยงเริ่มจากปลาขนาดประมาณ 1 กรัม สามารถเลี้ยงในกระชังขนาดตา 1/4 นิ้ว ด้วยอัตราปล่อย 3,000 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ใช้เวลาประมาณ 7-8 สัปดาห์ จะได้ปลาขนาดประมาณ 10 กรัม เพื่อนำไปคัดและเลี้ยงต่อไปให้ได้ปลาขนาด 25-30 กรัม โดยเลี้ยงในกระชังขนาดตา 1/2 นิ้ว ด้วยอัตราปล่อย 2,500 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ประมาณ 5-6 สัปดาห์ ก็จะได้ปลาขนาดเล็กเฉลี่ย 25-30 กรัม ตามต้องการ ช่วงที่อนุบาลลูกปลาเล็กเป็นปลาวัยรุ่นควรให้อาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูงไม่น้อยกว่า 25 %
       การเลี้ยงปลาวัยรุ่นเป็นปลาขนาดตลาด
      หลังจากอนุบาลลูกปลาได้ 12 - 14 สัปดาห์ ควรคัดขนาดเพื่อให้ได้ปลาที่จะนำไปเลี้ยงต่อมีขนาดสม่ำเสมอกล่าวคือ จะได้ปลาวัยรุ่นขนาดปลาประมาณ 50 - 60 กรัม ก่อนนำไปเลี้ยงเป็นปลาขนาดตลาด ควรแบ่งการเลี้ยงออกเป็นอีกขั้นตอน เป็นการเลี้ยงปลารุ่นให้เป็นปลาขนาด 100 กรัม โดยใช้อัตราปล่อยลงเลี้ยงในกระชัง 1,500 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร จะใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ หรือถ้าต้องการนำไปเลี้ยงเป็นปลาขนาดตลาดเลยควรปล่อยในอัตรา 1,000 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 9 - 10 สัปดาห์ ควรให้อาหารเม็ดชนิดลอยน้ำที่มีดาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงาน และมีโปรตีนประมาณ 25% ในปริมาณ 5 % ของน้ำหนักตัวปลาวันละ 3 เวลา โดยมีการปรับปริมาณอาหารทุก 15 วัน จะได้ปลาขนาด 300 - 400 กรัม
       การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในกระชัง
       โดยแบ่งการเลี้ยงออกเป็นช่วงต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น มีข้อดี คือ ผู้เลี้ยงสามารถทราบผลผลิตที่แน่นอน ปลาที่ได้มีขนาดสม่ำเสมอเหมาะสำหรับการผลิตเพื่อการค้า สามารถปรับขนาดตากระชังให้เหมาะสมกับขนาดปลาที่เลี้ยงได้ การเพิ่มขนาดตากระชังจะเป็นประโยชน์นด้านการหมุนเวียนถ่ายเทน้ำในกระชัง ซึ่งจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของปลาให้ดียิ่งขึ้น
       ขั้นตอนต่างๆ นี้ผู้เลี้ยงสามารถส่งต่อกันเป็นลักษณะผู้เลี้ยงปลาขนาดต่างๆ ซึ่งแต่ละขั้นตอนใช้เวลาไม่นานนัก ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถมีรายได้ในเวลาอันรวดเร็ว มีอัตราเสี่ยงในการลงทุนต่ำ และลงทุนไม่มากนัก

       ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงปลาในกระชัง
       แม้ว่าการเลี้ยงปลาในกระชังจะมีข้อดีได้เปรียบหลายประการ แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดของการเลี้ยงอยู่บ้าง ได้แก่
       1. อาจจะมีการรบกวนจากปลาธรรมชาติ และศัตรูปลาในธรรมชาติ
       2. ปลาขนาดเล็กหลุดเข้าไปในกระชัง และแย่งอาหารปลาได้
       3. การดูแลจัดการแม้ว่าจะสะดวก แต่ต้องเสียเวลาและแรงงานมากกว่าการเลี้ยงรูปแบบอื่น
       4. ปัญหาการลักขโมย ค่อนข้างง่าย
       5. ลักษณะการเลี้ยงในกระชังเป็นรูปแบบที่ต้องใช้อาหารเลี้ยงเป็นหลักซึ่งต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก อาหารส่วนหนึ่งสูญเสียโดยลอดตากระชังออกไปข้างนอก
       6. น้ำต้องดีตลอด ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี น้ำเสีย จะทำให้ปลาตายหมดกระชังได้
       7. ปลาจะเป็นโรคติดต่อกันได้ง่าย
       8. ถ้ามีการเลี้ยงกันมากๆ มูลปลาและเศษอาหารที่เหลือจะตกไปที่พื้นเกิดหมักหมม ทำให้น้ำเน่า สิ่งแวดล้อมเสียได้ โดยเฉพาะที่น้ำนิ่งไม่มีน้ำถ่ายเท
ปลานิลแดงแปลงเพศที่เลี้ยงในกระชัง

       การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในกระชัง
       ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า กระชังที่ใช้เลี้ยงอาจทำใด้หลายขนาด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม เช่น ความลึกและความแรงของกระแสน้ำ ตลอดจนขนาดและจำนวนปลาที่ต้องการเลี้ยง จากการศึกษาของกรมประมง (สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดอุตรดิตถ์) สามารถกล่าได้ว่า การเลี้ยงปลานิลในกระชังจะไห้ผลผลิตเฉลี่ยระหว่าง 180 - 212 กิโลกรัม/กระชัง (กระชังขนาด 2.0 x 2.0 x 2.5 เมตร) โดยปล่อยปลาลงเลี้ยงในอัตราความหนาแน่น 60 ตัว/ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับ 500 ตัว/กระชัง (ลูกปลาขนาด 60 กรัม) ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 63 วัน ก็จะได้ขนาดตลาด (ตัวละ 3 ขีด) ซึ่งหากราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 40 บาท ก็จะทำให้มีรายได้ถึง 7,200 - 8,480 บาท/กระชัง/2เดือน จากต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 5,985 บาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 1,215 - 2,495 บาท/กระชัง/2เดือน ทั้งนี้สภาพการเลี้ยงจริงมักจะทำการเลี้ยงเป็นแพ แพละอย่างน้อย 4 กระชัง ดังนั้นจะทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้ระหว่าง 2,430 - 4,990 บาท/เดือน/4กระชัง ซึ่งสามารถค้ำจุนครอบครัวขนาดเล็กได้อย่างพอเพียง

       สำหรับรายละเอียดการเลี้ยงดังกล่าว กระชังที่ใช้เลี้ยงมีขนาด 2.0 x 2.0 x 2.5 เมตร ทำด้วยอวนไนลอนขนาดช่องตา 1 นิ้ว แขวนอยู่บนแพๆละ 3 กระชัง โครงทำด้วยท่อเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ใช้ถังพลาสติกเป็นทุ่นลอย กระชังแขวนลอยน้ำ เป็นต้นทุน 5,000 บาทต่อแพ(4กระชัง) โดยจะมีอายุการใช้งาน 3 ปี
       ปล่อยปลาขนาดตัวละประมาณ 60 กรัม ลงเลี้ยงในกระชัง ในอัตราความหนาแน่น 60 ตัว/ลูกบาศก์เมตร หรือกระชังละ 500 ตัว ให้อาหารเม็ดสำหรับปลากินพืชที่มีระดับโปรตีนร้อยละ 30 วันละ 2 ครั้ง ให้ช่วงเช้าและบ่าย โดยให้กินจนอิ่ม ทำการเลี้ยงโดยใช้ระยะเวลา 63 วัน จะได้ผลดังตารางแสดงอัตราการเจริญเติบโตดังนี้
       ตาราง แสดงอัตราการเจริญเติบโตของปลานิลแปลงเพศที่เลี้ยงในกระชัง
 ส่วนรายละเอียดต้นทุนการผลิตได้มรการนำค่าทางหลักเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ ค่าเสียโอกาสการลงทุน ค่าแรงงาน ค่าเสื่อมราคา มาคำนวณด้วย เพื่อให้ผลที่ได้สะท้อนถึงต้นทุนที่เป็นจริง โดยมีรายละเอียดดังตาราง

ผลตอบแทนและรายได้
       ภายหลังการเลี้ยง 63 วัน จะได้ผลผลิต 180 - 212 กก. จำหน่ายในราคา 40 บาท/กก. จะมีรายได้อยู่ในช่วง 7,213 - 8,502 บาท ซึ่งเมื่อนำต้นทุนทั้งหมดหักออกจากรายได้ จะมีกำไรสุทธิระหว่าง 1,294 - 2,439 บาท/กระชัง โดยมีจุดคุ้มทุนที่ 31.11 บาท โดยมีรายละเอียดการลงทุน - ผลตอบแทนดังตาราง
หมายเหตุ : จากข้อมูลทดลองเลี้ยงของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 9 กระชัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น